ทำความรู้จักกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับการประเมินผลการปฏิบัติงานกันก่อน การประเมินผลการปฏิบัติงานคืออะไร และทำอย่างไร โดยอาจกล่าวได้ว่าการประเมินผลการปฏิบัติงาน คือ กระบวนการที่ ผู้บริหารหรือหัวหน้างานใช้พิจารณาผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ว่าพนักงานปฏิบัติงานได้ในระดับใด แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานขององค์กรที่ตั้งไว้ รวมทั้งให้ข้อมูล ย้อนกลับแก่พนักงานถึงผลการประเมินเพื่อให้พนักงานมีการปรับปรุงพัฒนาตนเองในเรื่องที่ยังได้คะแนนน้อย เพื่อให้มีผลการประเมินที่ดีขึ้น ทั้งนี้การประเมินผลการปฏิบัติงานยังเชื่อมโยงไปถึงผลตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ อีกด้วย
ทำไมจึงต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
การประเมินผลการปฏิบัติงานมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ อยู่สองประการได้แก่
เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารค่าตอบแทน เช่น
- การปรับเงินเดือนประจำปี
- การจ่ายโบนัส หรือผลตอบแทนอื่นๆ
- การปรับเลื่อนตำแหน่งพนักงาน
- การทำ Talent Management ในองค์กร
เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากร
- การสรุปจุดเด่น จุดด้อยของพนักงานเพื่อพัฒนาให้ตรงตามวิสัยทัศน์องค์กร
- เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการฝึกอบรมในปีต่อไป
- พัฒนาเฉพาะทางแก่พนักงานที่เป็น Talent
- จัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (IDP)
นอกจากนั้น ในการประเมินผลการปฏิบัติงานยังมีส่วนช่วยในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้กับองค์กร เพราะเมื่อเราทราบข้อมูลแล้วว่าพนักงานของเรามีผลการประเมินเป็นอย่างไร มีจุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาเรื่องใดเป็นส่วนใหญ่ เราจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาขององค์กร ซึ่งจะส่งผลให้สามารถควบคุมหรือลดค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร ดังนั้น การประเมินผลการปฏิบัติงานจึงมีประโยชน์มหาศาลกับทุกองค์กร
เราควรประเมินผลด้วยระบบหรือรูปแบบอะไร
ระบบและรูปแบบในการประเมินผลมีมากมายหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งเคล็ดลับในการเลือกรูปแบบ หรือระบบการประเมินนั้น เราควรประเมินองค์กรของเราก่อนว่า องค์กรของเรามีองค์ความรู้ มีความพร้อม ในการประเมินผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการประเมินผลจะมีด้วยกัน 3 ส่วนได้แก่ ผู้บริหาร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และพนักงาน มีความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งในบทความต่อไปจะพาไปวิเคราะห์ ทั้ง 3 องค์ประกอบ เพื่อการเลือกรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับองค์กรต่อไป